วันอังคารที่ 24 มกราคม พ.ศ. 2555

งานปิดทองฝังลูกนิมิตวัดแก้วมงคล ชายทะเลกาหลง หลักประชาธิปไตย

หลักประชาธิปไตย
คำว่า "ประชาธิปไตย" หรือ "Democracy"เป็นคำที่ใช้มานานตั้งแต่สมัยกรีกโบราณรุ่งเรือง ซึ่งมุ่งแสดงถึงการปกครองที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนในการแสดงออก มีส่วนร่วมในการปกครองโดยเลือกผู้แทนเข้าไปนั่งในสภาบริหารและสภานิติบัญญัติ ผู้ให้คำนิยามแก่การปกครองแบบประชาธิปไตยที่กระชับและสั้น คือ ลิงคอล์น ที่ว่าประชาธิปไตย คือ การปกครองของประชาชน โดยประชาชนและเพื่อประชาชนหลักของประชาธิปไตย คือให้อำนาจแก่ประชาชน ทั้งทางนิติบัญญัติ บริหาร และด้านพิจารณาอรรถคดี ที่เรียกว่า ตุลาการ อย่างไรก็ดี มีผู้กล่าวถึงหลักของประชาธิปไตยว่า มี ๕ หลักด้วยกันคือ
๑.) หลักเสรีภาพ (Liberty) ซึ่งต้องประกอบด้วย สิทธิ หน้าที่ อิสรภาพ และสมภาพ จะต้องอยู่ร่วมกัน
๒.) หลักความเสมอภาค (Equality) คือความเท่าเทียมกัน ในฐานะเป็นพลเมืองของรัฐ
๓.) หลักเหตุผล (Rationality) การตัดสินความขัดแย้งด้วยเหตุผล
๔.) การตัดสินโดยเสียงข้างมาก (Majority) เสียงข้างน้อย ได้รับการคุ้มครอง (Majority rule, and minority right)
๕.) การผลัดเปลี่ยนกันหมุนเวียนดำรงตำแหน่ง (Rotation) ไม่ผูกขาดแต่คนใดคนหนึ่ง หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เพียงผู้เดียว.
แนวความคิดประชาธิปไตยในพระไตรปิฎก
๑. แนวความคิดเรื่องประชาธิปไตยแนวพระวินัยปิฎก
จะเห็นได้ว่า พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติพระวินัย เพื่อเป็นแนวในการประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์ แต่การบัญญัติวินัยนั้นก็ทรงบัญญัติเป็นพระสงฆ์มิได้บัญญัติตามลำพัง ต้องให้เกิดเรื่องก่อน แล้วประชุมสอบสวนแล้วบัญญัติพระวินัยท่ามกลางพระสงฆ์ ด้วยความเห็นชอบของพระสงฆ์ต่างพร้อมใจกันนำไปปฏิบัติ การทำกรรมต่างๆ ของสงฆ์ ยกเว้นอปโลกนกรรม ล้วนให้ทำเป็นการสงฆ์ทั้งสิ้น กล่าวคือ
ญัตติกรรม-ทำด้วยสงฆ์จตุวรรค คือ ๔ รูปขึ้นไป เช่นการสวดปาติโมกข์
ญัตติทุติยกรรม-ทำด้วยสงฆ์ปัญจวรรคคือ ๕ รูปขึ้นไป เช่น เรื่องกฐิน
ญัตติจตุตถกรรม-ทำด้วยสงฆ์ ทสวรรค คือ ตั้งแต่ ๑๐ รูปขึ้นไปยกเว้นในที่กันดาร เช่นการอุปสมบท
การให้มานัตต์ การสวดอัพภาน ก็ต้องใช้สงฆ์ตั้งแต่ ๒๑ รูปขึ้นไป จึงกล่าวได้ว่า
พระวินัย คือ รัฐธรรมนูญ และกฎหมายต่างๆ
พระสงฆ์ คือ สมาชิกสภาผู้แทน
คุณสมบัติของพระสงฆ์ คือ คุณสมบัติของสมาชิก
อำนาจพระสงฆ์ คือ อำนาจอธิปไตย
อธิกรณ์สงฆ์ทั้ง ๔ คือ
ก. วิวาทาธิกรณ์-การขัดแย้งกันเกี่ยวกับธรรมวินัย                             ข. อนุวาทาธิกรณ์-การโจทก์กันด้วยอาบัติต่างๆ
ค. อาปัตตาธิกรณ์-การละเมิดอาบัติต่างๆ                            ง. กิจจาธิกรณ์-กิจของสงฆ์ที่เกิดขึ้นที่จะพึงทำด้วยสงฆ์จำนวนต่างๆ
ต่างก็จะต้องระงับด้วยวิธีการที่เรียกว่า อธิกรณสมถะ ๗ คือ
๑. สัมมุขาวินัย ระงับต่อหน้าสงฆ์ต่อหน้าบุคคลต่อหน้าวัตถุ
๒. สติวินัย การระงับด้วยการให้เกียรติแก่พระอรหันต์ ผู้มีสติสมบูรณ์
๓. อมูฬหกวินัย การระงับเหตุด้วยการยกเว้นให้แก่ผู้ทำผิดในขณะที่เป็นบ้า คือได้หลงไปแล้ว
๔. เยภุยยสิกา ระงับด้วยเสียงข้างมากลงมติ
๕. ปฏิญญาตกรณะ ระงับด้วยการทำตามปฏิญญา
๖. ตัสสปาปิยสิกากรรม ระงับด้วยการลงโทษศัตรูผู้ถูกสอบสวนแล้วพูดไม่อยู่กับร่องกับรอย ให้การรับแล้วปฏิเสธ ปฏิเสธแล้วรับเป็นต้น
๗. ติณวัตถารกวินัย ระงับด้วยการประนีประนอมทั้งสองฝ่าย ดุจเอาหญ้าทับสิ่งสกปรกไว้ไม่ให้มีกลิ่น
ทั้งอธิกรณ์และการระงับต้องทำเป็นการสงฆ์เป็นส่วนใหญ่ ดุจการตั้งกรรมาธิการฝ่ายต่างๆ ฉะนั้นจึงเป็นการทำงานเป็นกลุ่มเป็นทีม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น